เจาะลึกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกฉบับของไบเดน
เพียงไม่กี่เดือนที่ไบเดนได้เข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ เขาได้ทำการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างมหาศาล ในบทความนี้เราจึงได้ทำการเจาะลึกถึงแผนการของไบเดน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากวิกฤต COVID-19 วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมไปถึงแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีวงเงินมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปจนถึงแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว 10 ปี สำหรับปี 2021-30 ซึ่งคาดว่าจะมีวงเงินมากกว่า 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเพื่อไม่ให้นักลงทุนทุกท่านพลาดโอกาสการลงทุนครั้งใหญ่นี้
โดยเริ่มจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ฉบับแรกวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากวิกฤต COVID-19 โดยเม็ดเงินหลักๆ จะถูกแบ่งเป็น
- การออกเช็คเงินสด 4.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะแจกเงินชาวอเมริกันคนละ 1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการให้เงินช่วยเหลือครั้งเดียว สำหรับคนที่มีฐานภาษีไม่เกิน 8 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี
- การต่ออายุโครงการช่วยเหลือผู้ว่างงาน 2.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะให้เงินช่วยเหลือคนว่างงานสัปดาห์ละ 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งครอบคลุมชาวอเมริกัน 9.5 ล้านราย ไปจนถึงเดือน ก.ย. 64
- การช่วยเหลือค่าใช้จ่ายแก่รัฐบาลในแต่ละมลรัฐและรัฐบาลท้องถิ่น 3.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะถูกนำมาลดภาษีท้องถิ่นเพื่อบรรเทาทุกข์แก่ผู้ที่เดือดร้อน เช่นเดียวกับกระบวนการเร่งฉีดวัคซีนในแต่ละท้องถิ่น
- การช่วยเหลือระบบการศึกษา 1.76 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเร่งกลับมาเปิดโรงเรียนให้ได้มาตรฐานตามระบบสาธารณสุข
- การช่วยเหลือด้านภาษี 1.43 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะมีการช่วยเหลือในรูแบบเครดิตภาษีสำหรับครอบครัวและสถานรับเลี้ยงเด็กสำหรับค่าใช้จ่ายรายเดือนทั่วไป
- การรับมือกับ COVID-19 จำนวน 1.23 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะนำมาจ้างบุคลากรด้านสาธารณสุขเพิ่มเพื่อเร่งกระบวนการฉีดวัคซีน โดยหวังให้ชาวอเมริกันทุกคนที่มีอายุมากกว่า 18 ปีได้รับการฉีดวัคซีนภายในเดือน พ.ค. 64
- การยกระดับสาธารณสุข 1.05 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะนำเงินมาช่วยเหลือโครงการ Affordable Care Act (ACA) หรือ Obamacare เดิม รวมถึงการพัฒนาวัคซีน
- การช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก 5.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะให้การช่วยเหลือบริษัทขนาดเล็กให้เข้าถึงวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงให้เงินช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตครั้งนี้
- การปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะมีการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะให้รองรับต่อมาตรการ Social Distancing
- การช่วยเหลืออื่นๆ 2.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อนำมาช่วยเหลือเกษตรกร คนไร้บ้าน
ส่วนแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ฉบับที่ 2 นั้นถูกนำมายกระดับโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ากว่า 2.26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะถูกแบ่งเป็น
- การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทางวงเงิน 6.21 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนำมาใช้ดังนี้
1.1 การช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 1.74 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตั้งเป้าให้การขนส่งสาธารณะมากกว่า 20% ต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบพลังงานไฟฟ้าแบบสมบูรณ์ภายในปี 2030
1.2 การพัฒนาถนนและสะพานในระยะยาว 2 หมื่นไมล์ วงเงิน 1.15 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อแก้ปัญหารถติด รวมถึงติดตั้งตัวดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ
1.3 การใช้จ่ายด้านอื่นๆ 3.32 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น การซ่อมแซมถนนเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน รวมถึงยกระดับการขนส่งสาธารณะให้ทันสมัยมากขึ้น
- การยกระดับสาธารณูปโภค 5.61 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถูกแบ่งเป็น
2.1 การยกระดับคุณภาพน้ำประปาทั่วประเทศให้สะอาดและให้ระบบมีความทันสมัยมากขึ้น 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
2.2 การยกระดับระบบโทรคมนาคม เพื่อให้ประชากรทั้งประเทศ 100% สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงวงเงิน 1 แสนล้านดอลลาร์หรัฐฯ
2.3 การสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า โดยจะมีการให้เครดิตภาษีสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานสะอาด รวมถึงส่งเสริมการจ้างงานในอุตสาหกรรม 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
2.4 การยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้สะอาดและน่าอยู่ยิ่งขึ้นด้วยการปรับปรุงบ้านและระบบสาธารณูปโภคทั่วประเทศ 2.13 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
2.5 การพัฒนาระบบโรงเรียนสีเขียว 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
2.6 การใช้จ่ายอื่นๆ เช่น การอุดบ่อก๊าซและน้ำมันที่ถูกทิ้งร้าง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- การช่วยเหลืออุตสาหกรรมการผลิตและการพัฒนา R&D 4.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถูกแบ่งเป็น
3.1 การช่วยเหลือภาคการผลิต เช่น อุตสาหกรรม Semiconductor และอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เพื่อให้มั่นใจว่าชิ้นส่วนต่างๆ ในธุรกิจเหล่านี้จะถูกผลิตจากสหรัฐฯ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
3.2 การพัฒนาเรื่องของ AI Cybersecurity Biotechnology รวมถึงรักษาความเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดให้ก้าวล้ำกว่าคู่แข่งอย่างจีน 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- การพัฒนาความสามารถของแรงงานให้สอดคล้องกับเทรนด์การเติบโตของโลก 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- การช่วยเหลือผู้สูงอายุและคนพิการผ่านโครงการ Medicaid และสนับสนุนให้กลุ่มคนดังกล่าวเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพ จำนวน 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- การเตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดครั้งใหม่ด้วยการจัดหาวิธีรับมือและวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวน 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับการคาดการณ์งบประมาณรายจ่ายระยะยาว 10 ปี ตั้งแต่ปี 2021-2030 ภายใต้รัฐบาลของไบเดน ซึ่งจัดทำโดยสำนักงบประมาณนั้นคาดว่าจะมีการใช้จ่ายรวมกว่า 11.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถูกแบ่งเป็น
- การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 4.45 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนำมาใช้
1.1 ลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
1.2 สนับสนุนให้ประชาชนสามารถซื้อบ้านได้ถูกลง 7.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
1.3 จ่ายเงินชดเชยแก่ลูกจ้างที่มีปัญหาสุขภาพ 5.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
1.4 ให้เงินช่วยเหลือสหภาพแรงงาน 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- การสนับสนุนด้านสาธารณสุข 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถูกนำมาใช้ดังนี้
2.1 ขยายขอบเขตประกันสุขภาพ ACA และ Medicare 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
2.2 สนับสนุนโครงการดูแลความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
2.3 จัดตั้งกองทุนสุขภาพชนบท และการสนับสนุนศูนย์สุขภาพจิต 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- การสนับสนุนด้านการศึกษา 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถูกแบ่งเป็น
3.1 สนับสนุนค่าเรียนชั้นเตรียมอนุบาล 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
3.2 สนับสนุนค่าเรียนสำหรับชั้น K-12 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
3.3 สนับสนุนค่าเรียนในชั้นมหาวิทยาลัย 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- สิทธิประโยชน์คนเกษียณและประกันสังคม 1.15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และถูกนำมาใช้ดังนี้
4.1 ช่วยเหลือผู้สูงอายุรายได้ต่ำและคนพิการ 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
4.2 ขยายสิทธิ์ประกันสังคม 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
4.3 ขยายเวลาการลดหย่อนภาษีแก่ผู้สูงอายุ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตามเพื่อรองรับต่อค่าใช้จ่ายที่มหาศาลในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงทำให้รัฐบาลของไบเดนอาจพิจารณาปรับขึ้นภาษีนิติบุคคลจาก 21% เป็น 28% รวมถึงอาจมีการกำหนดให้บริษัทที่มีการทำกำไรข้ามชาติต้องจ่ายภาษีอย่างน้อย 21% ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ทำไว้กับแต่ละประเทศ อีกทั้งยังอาจมีการปรับขึ้นภาษีส่วนบุคคลกับผู้มีรายได้สูง เช่นเดียวกับการขึ้นภาษีอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการหาทางอุดช่องโหว่การเรียกเก็บภาษีสำหรับสินค้าที่จับต้องไม่ได้ เช่นเดียวกับการยุติการลดหย่อนภาษีเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นปัจจัยความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง
โดยเรามองว่างบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดมหึมาภายใต้รัฐบาลของไบเดนจะเป็นปัจจัยหลักที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก โดยนับตั้งแต่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังขนาด 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ Fed ทำการปรับคาดการณ์การเติบโตของ GDP สหรัฐฯ ปี 2021 เป็นขยายตัว 6.5% (YoY) แข็งแกร่งสุดในรอบเกือบ 40 ปี ในทางเดียวกันองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ก็ได้ทำการปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ GDP โลกเป็นขยายตัว 5.6% (YoY) รับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว อีกทั้งยังช่วยให้สหรัฐฯ เอาชนะวิกฤตการแพร่ระบาดครั้งนี้ได้โดยเร็วจากการเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งสวนทางกับประเทศที่ยากจนจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนเป็นปัจจัยที่จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและยากจน ส่วนการเร่งฉีดวัคซีนจะช่วยหนุนหุ้นกลุ่มที่ได้อานิสงส์จากการกลับมาเปิดเศรษฐกิจอย่างกลุ่มพลังงานและกลุ่มท่องเที่ยวให้กลับมาฟื้นตัว ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารจะได้อานิสงส์จากการเร่งตัวของ Bond Yield หลังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เข้ามา อีกทั้งมาตรการดังกล่าวยังมีการมอบเงินให้เปล่าแก่ประชาชนจำนวนมาก ซึ่งจะเข้ามาเพิ่มกำลังการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน โดยปัจจัยดังกล่าวจะช่วยหนุนหุ้นกลุ่มอุปโภคบริโภค รวมถึงหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ส่วนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2.26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเป็นปัจจัยหนุนหุ้นกลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มวัตถุดิบ และกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการลงทุนในระบบโทรคมนาคมเพื่อยกระดับระบบ 5G ส่วนการสนับสนุนต่ออุตสาหกรรมพลังงานสะอาดจะเป็นผลดีต่อ Supply Chain ของอุตสาหกรรม EV และการใช้พลังงานสะอาด รวมถึงหุ้นกลุ่มที่สหรัฐฯ เน้นพัฒนาด้าน R&D อย่างกลุ่ม Semiconductor AI Cybersecurity และ Biotechnology ก็คาดว่าจะได้ประโยชน์และสามารถสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นได้เช่นกัน
บทความโดย Winthemoney
——————
Sources: Washingtonpost, Forbes, Statista, Nytimes, Reuters, Cnbc, Wsj, Whitehouse, Cfrb, Economictimes, Financialtimes, Marketwatch
.
.
ตัวอย่างกองทุนที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากแผนการดังกล่าวสามารถลงทุนได้ผ่าน
- ลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ผ่านกองทุน KF-US, K-USA-A(A), K-USXNDQ-A(A), SCBUSA
- ลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ผ่านกองทุน ABAGS, KF-HSMUS, SCBUSSM
- ลงทุนในหุ้นโลกผ่านกองทุน ONE-DISC-RA, ONE-UGG-RA, PRINCIPAL GOPP-A, TMBGQG, UGQG
- ลงทุนในหุ้นพลังงานสะอาดผ่านกองทุน ASP-POWER, MRENEW, PRINCIPAL GCLEAN, T-ES-GGREEN, TNEWENGY
- ลงทุนในหุ้นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านกองทุน KFINFRA-A, SCBGIF, TISCOGIF, TMBGINFRA
- ลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับระบบโทรคมนาคม 5G ผ่านกองทุน WE-USREIT
- ลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับ Biotech ผ่านกองทุน ASP-IHEALTH, PRINCIPAL GHEALTH-A, TBIOTECH
- ลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับ Cybersecurity ผ่านกองทุน WE-GSECURE, UGSE
- ลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับ AI ผ่านกองทุน KT-WTAI-A
- ลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับการกลับมาเปิดเศรษฐกิจผ่านกองทุน KT-ENERGY
- ลงทุนใน Global REITs ผ่านกองทุน KFGPROP, TMBGPROP
- ลงทุนในหุ้นกลุ่ม Finance ผ่านกองทุน KT-FINANCE, MN-USBANK-A, ONE-GLOBALFIN-RA, TUSFIN-A
.
.
✅ สำหรับผู้สนใจลงทุนผ่านบริการของ INDEGO สามารถติดต่อลงทุนและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
🌐 Website: https://www.indegowealth.com
📧 อีเมล: [email protected]
📞 โทร: 02-233-9995
💻 Facebook: INDEGO WEALTH
🗓 ทุกวันทำการ จันทร์ – ศุกร์ เวลา 8:30 – 17:30 น.