INDEGO Exclusive Content EP.9

อนาคตของโลกการเงิน

 

เมื่อวิกฤต COVID-19 ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ และทุกธุรกิจล้วนต้องใช้เงิน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะก่อให้เกิดการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการบริการทางการเงินในรูปแบบต่างๆ หรือ Fintech (Finance + Technology)

 

ในอดีตที่ผ่านมาธนาคารต้องปิดสาขาจำนวนมาก โดยพบว่าจำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ได้ลดลงจาก 6,735 สาขา ในปี 2018 เหลือเพียง 6,167 สาขาในปี 2020 ในทางกลับกันจำนวนผู้ใช้งาน Mobile Banking ได้เพิ่มจาก 46 ล้านบัญชีในปี 2018 เป็นกว่า 68 ล้านบัญชี ในปี 2020 บ่งชี้ว่ารูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินดั้งเดิมได้ถูก Disrupt ด้วย Fintech อย่างปฏิเสธไม่ได้

 

เมื่อใครๆ ก็อยากได้เงิน จึงไม่ใช่เพียงแค่ธนาคารที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมกับโอกาสดังกล่าวและก่อให้เกิดพันธมิตรทางธุรกิจในแบบที่เรียกว่า Social Banking หรือการให้บริการธนาคารออนไลน์บนแอป Social Media เช่น Line BK ซึ่งเป็นการรวมตัวระหว่าง Line และ Kbank เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้สามารถโอนเงิน จ่ายบัตรเครดิต และขอสินเชื่อ ได้ครบจบในแอปเดียว หรือแม้แต่ Grab ที่ทำธุรกิจด้านขนส่งและ Food Delivery ก็ได้ผลักดัน GrabPay ให้เป็นระบบการชำระเงินออนไลน์ชั้นนำสำหรับทั่วโลก

 

Fintech นั้นไม่จบแค่การจ่ายและรับเงิน แต่ยังสามารถต่อยอดสู่บริการใหม่ๆ ได้มากมาย เช่น Insurtech หรือประกันยุคใหม่ซึ่งประยุกต์การนำเอา Big Data มาวิเคราะห์เพื่อนำเสนอประกันที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งยังสามารถดำเนินการด้านเอกสารออนไลน์เพื่อประหยัดเวลา รวมถึง Wealthtech หรือมิติใหม่ของการให้บริการ Wealth Management ซึ่งส่วนใหญ่มีจุดเด่นด้านค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่า และมีผลิตภัณฑ์ให้เลือกหลากหลายในรูปแบบที่ดูง่ายต่อการเข้าใจไม่ซับซ้อน รวมถึง Robo Advisor ที่นำเอา AI มาจัดสรรพอร์ตการลงทุนและปรับพอร์ตให้เหมาะสมกับภาวะตลาดแบบอัตโนมัติ ซึ่งเหมาะกับผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านการลงทุนและไม่มีเวลาติดตามตลาดมากนัก

 

Fintech เข้ามาลดความเหลื่อมล้ำจากในอดีตที่เรามักเข้าใจว่าการลงทุนมักเป็นเรื่องของคนรวย แต่ Fintech ได้ทำให้อุตสาหกรรมการเงินมีระบบที่ง่ายต่อการใช้งานรวมถึงมีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าในอดีต ช่วยดึงดูดให้นักลงทุนรายย่อยหน้าใหม่จำนวนมากสามารถก้าวเข้าสู่ตลาดการเงินและก่อให้เกิดปรากฏการณ์ GameStop ที่รายย่อยจำนวนมากได้ทำการซื้อหุ้นที่กำลังถูกทิ้งสวนทาง Hedge Fund ที่ทำการ Short หุ้นอย่างหนักจนประสบภาวะขาดทุนแบบไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จนี้เกิดจากแอปพลิเคชัน Robinhood ซึ่งมีจุดเด่นที่ไม่คิดค่าคอมมิชชัน และเข้ามา Disrupt วงการโบรกเกอร์แบบดั้งเดิมที่ฟังดูเผินๆ เหมือนจะไม่มีรายได้ แต่บริษัทลักษณะนี้มี Model ธุรกิจที่สามารถเก็บ Subscription Fee เพื่อสิทธิพิเศษเช่นการกู้ยืมมาลงทุน หรือการใช้ Margin นอกจากนี้บริษัทยังสามารถนำคำสั่งซื้อขายเพื่อนำมาเป็น Data ในการวิเคราะห์แนวโน้มตลาดให้เกิดประโยชน์ได้อีกด้วย

 

นอกจากนี้เทคโนโลยีที่เข้ามาพลิกโฉมอนาคตของโลกการเงินคงไม่พ้นเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลเป็นส่วนๆ (Block) และเชื่อมต่อกันเหมือนห่วงโซ่ (Chain) ต่อไปเรื่อยๆ และถูกจัดเก็บในคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในเครือข่าย และเมื่อธุรกรรมถูกบันทึกใน Block เหล่านี้จะทำให้ทุกคนมีสิทธิ์เห็นธุรกรรมที่เกิดขึ้น หรือการตรวจสอบซึ่งกันและกันเอง ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและทำให้เรื่องของการทุจริตเกิดขึ้นได้ยาก ทำให้ผู้คน 2 ฝ่ายที่ไม่รู้จักกันกล้าที่จะทำธุรกรรมด้วยกันโดยไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลางเช่นธนาคารแบบในอดีต ซึ่งจะช่วยลดปัญหาค่าธรรมเนียม ความล่าช้า  ความยุ่งยากในการเปิดบัญชี รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาระบบล่ม

 

Blockchain นี้ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Cryptocurrency ที่เกิดจากการรวบรวมของคำว่า Cryptography และ Currency เข้าด้วยกัน ซึ่งหมายถึงสกุลเงินที่ต้องมีรหัส และเป็นการเปิดมิติใหม่ของการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความน่าเชื่อถือ และโปร่งใสมากขึ้น โดยมูลค่าของสินทรัพย์ในตลาด Cryptocurrency นั้นมักจะถูกประเมินด้วยปริมาณอุปสงค์และอุปทานในตลาดเป็นหลัก ซึ่งต่างกับการประเมินราคาหุ้นที่ต้องวิเคราะห์จากปัจจัยพื้นฐานและผลกำไรโดยสิ้นเชิง

 

โดย Cryptocurrency ที่ได้รับความนิยมมากสุดและรู้จักกันอย่างแพร่หลายคงไม่พ้น Bitcoin ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาในปี 2008 โดยบุคคล/กลุ่ม ผู้ใช้นามแฝงว่า ซาโตชิ นากาโมโตะ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงอย่างเป็นทางการ โดยจุดประสงค์การสร้าง Bitcoin ของซาโตชิ คือ การสร้างสกุลเงินที่สามารถส่งต่อให้กันและกันได้โดยมีความเป็นอิสระจากรัฐบาลและธนาคารกลาง โดยพื้นฐานการทำงานของ Bitcoin จะใช้วิธีที่เรียกว่าการกระจายศูนย์ (Decentralized) หรือการจัดเก็บข้อมูลบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในระบบให้ได้เห็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริง และสามารถตรวจสอบซึ่งกันและกันได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานใดเข้ามาควบคุม

 

หากจะกล่าวว่า Bitcoin จะเข้ามาแทนที่ทองคำนั้นก็นับว่ามีความใกล้เคียง โดยวิธีการที่จะได้มาซึ่ง Bitcoin นั้นจะต้องทำการขุด Bitcoin ซึ่งคล้ายคลึงกับการขุดเหมืองทองที่มีอุปทานจำกัด ส่วนปริมาณอุปทานของ Bitcoin ในระบบทั้งโลกนั้นมีจำกัดทั้งสิ้น 21 ล้าน Bitcoin ซึ่งปัจจุบันถูกขุดพบแล้วประมาณ 18.5 ล้าน Bitcoin จึงเหลือ Bitcoin ให้ขุดพบเพิ่มขึ้นอีกเพียง 2.5 ล้าน Bitcoin แต่การขุด Bitcoin จะต้องใช้การประมวลผลของคอมพิวเตอร์และการ์ดจอเข้าช่วยเพื่อถอดรหัสหา Algorithm ที่มีความซับซ้อนเพื่อให้ได้มาซึ่ง Bitcoin และในทุกๆ 4 ปี จำนวนเหรียญที่นักขุดจะได้รับจะถูกลดทอนเหลือครึ่งหนึ่ง (Halving) เพื่อให้การได้มานั้นยากมากขึ้นไปอีก โดยมีการคาดการณ์ว่า Bitcoin ทั้ง 21 ล้านเหรียญจะถูกค้นพบจนหมดในปี 2140 ด้วยความยากในการค้นพบซึ่งเหรียญใหม่ทำให้ปริมาณอุปทานในตลาดนั้นมีจำกัด แต่ปริมาณของอุปสงค์นั้นกลับเติบโตเมื่อบริษัทใหญ่ๆ เริ่มให้ความสนใจกระจายการลงทุนใน Bitcoin มากขึ้นจากแนวโน้มการเติบโตเช่นเดียวกับความสัมพันธ์ (Correlation) กับสินทรัพย์อื่นที่ต่ำ สะท้อนผ่านการที่บริษัท Tesla ประกาศซื้อ Bitcoin จำนวน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเตรียมรับชำระค่ารถด้วย Bitcoin ในอนาคต และก็มีความเชื่อที่ว่าหากหลายๆ บริษัททำเช่นเดียวกับ Tesla ก็จะช่วยผลักดันให้ราคา Bitcoin เติบโตแบบก้าวกระโดดขึ้นไปอีก

 

อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของการลงทุนใน Bitcoin คือความผันผวนของราคาที่ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากการเทรด Bitcoin นั้นไม่ได้มี Circuit Breaker เพื่อระงับความร้อนแรงของตลาด และ Bitcoin ไม่ได้ขึ้นตรงกับหน่วยงานใดจึงมีความเสี่ยงที่การเทรด Bitcoin จะถูก Regulator เข้าควบคุม โดยล่าสุด เจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนว่า Bitcoin มักถูกใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย เช่นการฟอกเงิน ขณะที่ในบ้านเรา ก.ล.ต. ก็ได้เตรียมเข้ามากำกับดูแลการซื้อขายคริปโตในประเทศ โดยเล็งบังคับให้นักลงทุนคริปโตต้องมีรายได้มากกว่า 1 ล้านบาทต่อปี และต้องผ่านบททดสอบความรู้ก่อนลงทุน ซึ่งอาจเป็นการจำกัดปริมาณอุปสงค์ของรายย่อยที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในตลาด

 

เมื่อมันคือ Money Game ผู้คุมอำนาจนั้นเปรียบเสมือนผู้ชนะ ส่งผลให้ใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าสังเวียนในการควบคุมเงิน สะท้อนผ่านการที่ Facebook ได้จัดตั้ง Libra Association ร่วมกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาเหรียญ Libra หรือแม้แต่ภาครัฐก็เข้ามาร่วมสังเวียนดังกล่าวด้วยเช่นกันจากการเร่งผลักดันหยวนดิจิทัลของทางการจีน ส่วนธนาคารกลางทั่วโลกก็เริ่มหันมาศึกษาสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้นเช่นกัน บ่งชี้ว่า Fintech คือ สิ่งที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลกเราแน่ๆ แต่หากถามว่าใครจะเป็นผู้ชนะก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป ฉะนั้นแล้วในฐานะนักลงทุนการกระจายการลงทุนในธุรกิจ Fintech ที่ถูกคัดสรรโดยผู้จัดการกองทุนระดับโลกอาจเป็นคำตอบที่เหมาะสมที่สุด

 

บทความโดย Winthemoney

—————–

Sources: Brandinside, BOT, cnbc, Investopedia, Siamblockchain, InfoQuest

.

.

สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนไปกับการเติบโตของธุรกิจ Fintech นั้นก็สามารถลงทุนได้ผ่านกองทุน MFTECH และอีกมากมาย โดยผู้ที่สนใจลงทุนในกองทุนหุ้น Fintech เปลี่ยนโลกสามารถเข้ารับการปรึกษาจากเราได้ในทุกช่องทาง

.

.

✅ สำหรับผู้สนใจลงทุนผ่านบริการของ INDEGO สามารถติดต่อลงทุนและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

🌐 Website: https://www.indegowealth.com

📧 อีเมล: [email protected]

📞 โทร: 02-233-9995

💻 Facebook: INDEGO WEALTH

📄 Blockdit: INDEGO WEALTH

🗓 ทุกวันทำการ จันทร์ – ศุกร์ เวลา 8:30 – 17:30 น.

#ยืนหนึ่งเรื่องกองทุนต้อง INDEGO

 

 

 

Contact
Contact