Green Spring

เข้าสู่เดือนพฤษภาคมของปีกันแล้ว เดือนที่นักลงทุนมักจะกังวลกับภาวะ Sell in May กันอยู่บ่อยครั้ง แต่สำหรับปีนี้ก็คงจะต้องติดตามผลประกอบการของตลาดโดยภาพรวม รวมถึงนโยบายการเงินและการคลังที่ยังช่วยประคองตลาดหลังภาวะวิกฤต โดยเดือนที่ผ่านมาหุ้นโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นตอบรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เริ่มชะลอความร้อนแรงลงและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยภาพรวมยังปรับตัวขึ้นตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ขณะที่ REITs และหุ้นไทย รวมถึงหุ้นญี่ปุ่นและอินเดียยังถูกกดดันจากความกังวลของการระบาด COVID-19 ระลอกใหม่

INDEGO Monthly Outlook May 2021
Full PDF version

เริ่มที่นโยบายการเงินโลกพบว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังคงดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเช่นเดิมต่อไป โดยประธาน Fed ออกมาแถลงมุมมองว่าจะยังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และมีแผนจะปรับลดการทำ QE ก่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
เพื่อยืนยันถึงมุมมองในการผ่อนคลายทางการเงินต่อไปในปีนี้ นอกจากนั้น Fed ยังคงไม่กังวลต่อประเด็นด้านเงินเฟ้อ โดยมองว่า
เป็นปัจจัยในระยะสั้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ขณะที่ทางธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ยังคงนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายต่อไปเช่นเดียวกัน

ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มแย่ลงต่อเนื่องหลังจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่กลับมาเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง นำโดยอินเดียหลังพบว่าเชื้อเริ่มมีการกลายพันธุ์และสามารถแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น เช่นเดียวกันกับไทยและญี่ปุ่นที่เกิดการระบาดระลอกใหม่
ที่รุนแรง ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้ต้องกลับมาใช้มาตรการคุมเข้มอีกครั้งหรือขยายระยะเวลาล็อกดาวน์ออกไป อย่างไรก็ตามประเทศที่มีสัดส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนสูง ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น สหรัฐฯ และอังกฤษ ส่งผลให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศที่ได้รับวัคซีนไปมากแล้วฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง สวนทางกับประเทศที่มีการกลับมาระบาดหนักอีกครั้ง ส่งผลทำให้เกิดการ
ปรับฐานในตลาดหุ้นอินเดีย ญี่ปุ่น และไทย

ด้าน IMF ได้ปรับเพิ่มประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2021 ว่าจะขยายตัว 6% จากเดิมเมื่อเดือน ม.ค. ที่คาดว่า
จะขยายตัว 5.5% ซึ่งเรามองว่าเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนในหุ้น โดยแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากมาตรการภาครัฐทั่วโลกซึ่งคาดว่าจะมีการออกมาเพิ่มเติมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ประกอบกับความรวดเร็วในการแจกจ่ายวัคซีน ดังนั้นปัจจัยสำคัญในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะขึ้นอยู่กับมาตรการภาครัฐและความเร็วในการฉีดวัคซีน

สำหรับประเด็นสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้กับนักลงทุนในเดือนที่ผ่านมาก็คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2.26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของรัฐบาลไบเดนที่ประกาศออกมาในช่วงนี้ซึ่งตรงกับช่วงฤดูใบไม้ผลิ (Spring) ในสหรัฐฯ โดยนโยบายหลักยังคงเป็นการมุ่งเน้นในการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานสะอาดหรือที่เรียกว่า Green Energy นอกจากนั้นในงานประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศ Climate Summit ระหว่างผู้นำและตัวแทนจากกว่า 40 ประเทศทั่วโลกเองก็มีการร่วมมือกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซมลพิษ และหารือในประเด็นการรักษาสิ่งแวดล้อมและการสนับสนุนพลังงานสะอาดเอง ซึ่งทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างมีความเห็นพ้องและให้ความร่วมมือด้วยกันทั้งสองฝ่าย ส่งผลให้หุ้นและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดยังคงมีความน่าสนใจและเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น

ด้านหุ้นจีนเริ่มกลับมาน่าสนใจเพิ่มขึ้นหลังเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวจากผลประกอบการที่แข็งแกร่ง และทางการจีนเริ่มมี
ความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายในการจัดระเบียบและควบคุมอำนาจผูกขาดของบริษัทเทคโนโลยี โดยทางการจีนมีการปรับบริษัท Alibaba ในข้อหาการใช้อำนาจผูกขาด มีการสั่งให้ Ant Group ปรับโครงสร้างธุรกิจให้เป็น Holding รวมถึงมีการเรียก 34 บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำเข้าไปเจรจาในการให้เเนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อให้มีพฤติกรรมผูกขาดทางการค้าที่ลดลง

            สำหรับในเดือนนี้เราแนะนำให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานสะอาดจากนโยบายภาครัฐที่ยังสนับสนุนเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า ซึ่งเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อการกลับเข้าไปเก็งกำไรระยะสั้นในหุ้นทั่วโลกหลากหลายธีม
การลงทุนที่ปรับตัวลงมาแรงก่อนหน้านี้ รวมถึงหุ้นจีนที่มีการเติบโตที่แข็งแกร่งและมีความชัดเจนด้านนโยบายเพิ่มขึ้น โดยมุมมองระยะยาวเรายังคงชอบหุ้นโลกขนาดกลางและขนาดเล็ก หุ้นจีน หุ้นอินเดีย หุ้นตลาดเกิดใหม่ และหุ้นพลังงานสะอาดที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ รวมถึง REITs
ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ

  • SHARE
Contact
Contact