The Burning Ice

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับไตรมาสแรกของปี 2021 นับว่าเป็นไตรมาสที่ตลาดกลับมามีความผันผวนที่รุนแรงมาก หลังจากที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นร้อนแรงตั้งแต่ช่วงต้นปี ก็ตามมาด้วยความกังวลของการกลับมาของอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวเพิ่มขึ้นกดดันตราสารหนี้ และ หุ้นกลุ่ม Growth โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีในเดือนที่ผ่านมา ขณะที่หุ้นจีนที่ปรับตัวลงอย่างรุนแรงจากความกังวลในความขัดแย้งด้านการเมืองระหว่างจีนและสหรัฐฯ รวมถึงประเด็นที่รัฐบาลจีนมีแผนจัดระเบียบบริษัทด้านเทคโนโลยีจีน ด้าน REITs ฟื้นตัวได้ดีจากการฉีดวัคซีนทั่วโลกที่มีความคืบหน้าต่อเนื่อง

INDEGO Monthly Outlook April 2021
Full PDF version

เมื่อพิจารณานโยบายการเงินโลกยังพบว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเช่นเดิม โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมุมมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถฟื้นตัวได้ดีกว่าคาดการณ์เดิม และยังส่งสัญญาณว่าจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงปี 2023 ขณะที่ Dot Plot บ่งชี้ว่าเริ่มมีสัญญาณ Hawkish ขึ้นเล็กน้อยสำหรับมุมมองของเสียงโหวตของคณะกรรมการในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มความกังวลต่อประเด็นการถอนสภาพคล่องของ Fed มากขึ้นและกังวลถึงความเสี่ยงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะยังปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ Fed ประกาศไม่ต่ออายุโครงการช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่ธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดที่จะสิ้นสุดเดือนนี้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเพิ่มสัดส่วนเงินทุนสำรองที่มีสภาพคล่องตามกฎเดิมก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเร่งซื้อพันธบัตรตามมาตรการ PEPP ในไตรมาสที่ 2/2021 เพิ่มขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ยกเลิกคำมั่นสัญญาว่าจะซื้อ ETFs ที่วงเงิน 6 ล้านล้านเยนต่อปี เพื่อให้สามารถซื้อ ETFs ได้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยมุ่งเป้าซื้อ ETFs จากดัชนี TOPIX แทนที่ Nikkei ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กในญี่ปุ่น ภาพรวมของนโยบายการเงินโลกจึงยังมีแนวโน้มที่สภาพคล่องจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกสักระยะ แต่ยังมีแนวโน้มที่จะยังมีความผันผวนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะสั้น

ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มแย่ลงหลังจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่กลับมาเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง โดยอินเดียและประเทศในแถบยุโรปหลายแห่งเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ขึ้นอีกครั้งภายหลังเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จึงทำให้บางส่วนของประเทศเหล่านี้ต้องกลับมาใช้มาตรการคุมเข้มอีกครั้งหรือขยายระยะเวลาล็อกดาวน์ออกไป อย่างไรก็ตามประเทศที่มีสัดส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนสูงเริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลดลง เช่น สหรัฐฯ และอังกฤษ ส่งผลให้นักลงทุนมีความคาดหวังต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรยังมีการปรับตัวสูงขึ้นและทำให้เกิดภาวะ Sector Rotation จากหุ้นกลุ่ม Growth ไปยังกลุ่ม Value ในระยะสั้น ดังจะเห็นหุ้นในกลุ่มประเทศที่ฟื้นตัวช้า เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงไทยกลับมาปรับตัวขึ้นได้โดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา

ด้านผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2020 ของหุ้นทั่วโลกพบว่าบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ ผลประกอบการดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ และอินเดีย ขณะที่หุ้นจีนในดัชนี MSCI China ยังประกาศผลประกอบการออกมาเพียง 23% แต่มีการเติบโตทั้งรายได้และกำไรที่แข็งแกร่งถึง 4% (YoY) และ 27% (YoY) ตามลำดับ

ส่วนประเด็นที่กดดันตลาดหุ้นจีนให้กลับมาปรับตัวลงอย่างรุนแรงในช่วงเดือนที่ผ่านมาก็คือ ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่กลับมาร้อนแรงมากขึ้นหลังจากการพบปะกันของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้ง 2 ประเทศ ยังไม่สามารถเจรจาข้อตกลงทางการค้ากันได้ ประกอบกับทาง ก.ล.ต. สหรัฐฯ ได้เริ่มใช้มาตรการตามกฎหมายใหม่ที่อาจถอดถอนหุ้นของบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดสหรัฐฯ ออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ แล้ว รวมถึงการที่ทางการจีนได้ทำการออกกฎหมายและตรวจสอบบริษัทกลุ่มเทคโนโลยีเพื่อควบคุมอำนาจการผูกขาดและธุรกิจฟินเทค โดยเรามองว่าความไม่แน่นอนดังกล่าวยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามที่อาจกดดันหุ้นจีนได้ในระยะสั้น แต่ในภาพระยะยาวยังคงมองว่าหุ้นจีนมีความน่าสนใจจากการเติบโตที่โดดเด่นสะท้อนผ่านผลประกอบการในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา และแนวโน้มคาดการณ์กำไรที่ยังเติบโตได้ดี รวมถึงแนวทางที่บริษัทจีนจะมีการจดทะเบียนแบบ Dual Listing มากยิ่งขึ้น

            สำหรับในเดือนนี้เราแนะนำให้ระมัดระวังการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยมองว่ายังมีโอกาสในการเก็งกำไรระยะสั้นในหุ้นยุโรป และเป็นจังหวะในการทยอยสะสมหุ้นโลกเติบโตสูงที่ปรับฐานลงมาแรง และแนะนำให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเวียดนามที่มีระดับ valuation ที่ยังน่าสนใจ ขณะที่ภาพระยะยาวเรายังคงชอบหุ้นโลกขนาดกลางและขนาดเล็ก หุ้นจีน หุ้นอินเดีย หุ้นตลาดเกิดใหม่ และหุ้นพลังงานสะอาดที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ รวมถึง REITs ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ

  • SHARE
Contact
Contact